01:53 |
Author: ถนอมศิลป์ฟาร์มเห็ด
เป็นที่ทราบกันดีในวงการเพาะเห็ด ไม่ว่าจะเป็นเห็ดฟาง เห็ดนางรม-นางฟ้า เห็ดขอน ฯลฯ ในเรื่องของแมลงศัตรูเห็ดที่ระบาดกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นไรศัตรูเห็ด แมลงหวี่ หนอนแมลงหวี่ เชื้อรา หรือแม้กระทั่งราเห็ด (เห็ดที่ไม่พึงประสงค์) ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเห็ดลดลง หรือหากระบาดหนักก็ไม่ได้ผลผลิตก็มี ทำให้ต้องขาดทุน บางท่านถึงกับเข็ดขยาดกับการเพาะเห็ดไปเลยก็มี
วันนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึง “แมลงหวี่” ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญสำหรับการเพาะเห็ดอย่างหนึ่ง ซึ่งการระบาดนั้นเกิดจากกลิ่นอับภายในโรงเรือน กลิ่นอับจากก้อนเชื้อเห็ด รวมถึงการหมักหมมเศษวัสดุต่าง ๆ ทั้งเนื้อเยื่อเห็ดหลังจากช้อนเขี่ยทำความสะอาดหน้าก้อน บางท่านก็ทิ้งไว้ที่พื้นโรงเรือน ทำให้เน่าบูด ซึ่งเป็นกลิ่นที่ดึงดูดแมลงหวี่จากภายนอกเข้ามาภายในโรงเรือนทั้งสิ้น การระบาดของแมลงหวี่เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดหนอนชอนไชอยู่ในก้อน เกิดจากแมลงหวี่วางไข่ที่หน้าก้อน แล้วกลายเป็นหนอน ชอนไช กินเส้นใยเห็ด และชอนไชทำให้เส้นใยเห็ดเสียหาย อีกทั้งแมลงหวี่เมื่อมาตอมที่หน้าก้อนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่หน้าก้อนเชื้อเห็ดเกิดเชื้อรา ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดชะงักการออกดอก บางท่านไม่รู้วิธีแก้ไข ก็ทิ้งก้อนบ้างก็มี
ผู้เขียนจะขอพูดถึงวิธีการป้องกันที่เกษตรกรทุกท่านสามารถทำได้ดังนี้นะครับ
1. รักษาความสะอาดภายในโรงเรือน ไม่ทิ้งดอกเห็ด หรือเนื้อเยื่อหลังจากแคะทำความสะอาดหน้าก้อนไว้ที่พื้นโรงเรือน ควรเก็บให้แล้วนำไปทิ้งให้ห่างจากโรงเรือน
2. ใช้ภาชนะพลาสติกสีเหลือง (กระป๋องน้ำมันเครื่องเชลล์) ทากาวเหนียวดักแมลง แขวนทั้งภายในและภายนอกโรงเรือนให้ทั่ว ควรติดให้แขวนให้สูงเพื่อไม่ให้เกะกะในการทำงาน แขวนยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี วิธีการนี้จะทำให้แมลงหวี่ที่บินเข้าภายทั้งภายในและภายนอกเข้าไปติดกับดักที่เราทำไว้ ก็เป็นการลดประชากรของแมลงหวี่ไปด้วยอีกวิธีหนึ่ง
3. ผนังโรงเรือนทั้งภายในและภายนอกควรฉีดพ่นด้วยไทเกอร์เฮิร์บ (สมุนไพรผงรวมไล่แมลง) อัตรา 20-50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน ซึ่งกลิ่นฉุนของไทเกอร์เฮิร์บจะทำให้แมลงหวี่ไม่กล้าเข้าไปวางไข่ภายในโรงเรือน และไม่กล้าเข้าใกล้โรงเรือน ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นผลดีในกรณีการเข้าระบาดของไรศัตรูเห็ดด้วยครับ
4. หว่านสเม็คไทต์ชนิดผงที่พื้นโรงเรือนที่ชื้นแฉะเนื่องจากการให้น้ำหรืออาจจะมีเศษดอกเห็ดเน่าสะสมอยู่ การหว่านสเม็คไทต์ให้หว่านบาง ๆ เพื่อดูดกลิ่นอับที่เกิดขึ้น ควรมีการหว่านเมื่อผู้เพาะเห็ดพบว่าภายในโรงเรือนมีกลิ่นอับ หรือกลิ่นเน่าเหม็นที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้วิธีการนี้จะเป็นการลดกลิ่นล่อแมลงหวี่เข้ามาอีกทางหนึ่ง
สำหรับผู้ที่พบแมลงหวี่อยู่ในโรงเรือนเพาะเห็ดแล้วก็ให้นำวิธีตั้งแต่ข้อที่ 1 จนถึงข้อสุดท้ายไปฏิบัติกันได้เลยครับ แต่หากพบว่ามีหนอนแมลงหวี่เข้าไปชอนไชอยู่ในก้อนเชื้อเห็ดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการหมักเชื้อบีทีชีวภาพด้วยสูตรต่าง ๆ ที่ชมรมฯ แนะนำ (แล้วแต่สะดวก) เมื่อหมักครบ 24 ชั่วโมง ก็ผสมน้ำ แล้วใช้สลิง (เครื่องมือฉีดยาของแพทย์) ดึงน้ำหมักบีทีชีวภาพขึ้นมาฉีดอัดไปที่บริเวณก้อนที่หนอนแมลงหวี่ระบาด เท่านี้ก็กำจัดหนอนแมลงหวี่ก่อนที่จะโตเต็มวัยกลายไปเป็นแมลงหวี่เข้ามาวางไข่ในก้อนเชื้อเห็ดได้อยู่หมัด
ในทางกลับกันก้อนที่ไข่ของแมลงหวี่จะกลายเป็นหนอน บางก้อนอาจจะมีปัญหาเรื่องเชื้อราซึ่งตัวพาหะก็คือแมลงหวี่ สปอร์ของเชื้อราอาจจะติดขาติดตัวแมลงหวี่มา แล้วมาเกิดที่หน้าก้อนเชื้อเห็ดของเรา ก็ให้หมักบาซิลลัส-พลายแก้ว หมักให้ครบ 24 ชั่วโมง ผสมน้ำสเปรย์บาง ๆ เข้าไปที่หน้าก้อน หากเป็นในก้อนให้ใช้สลิงฉีดอัดไปบริเวณที่เกิดเชื้อรานั้น ๆ
หากผู้เพาะเห็ดมือใหม่ทั้งหลายเข้าไปสอบถามในเรื่องการเพาะเห็ดกับผู้ที่มีความชำนาญหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปรมาจารย์เห็ด” ก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “หากจะทำฟาร์มเพาะเห็ดให้ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงก็คือความสะอาดทั้งภายในและภายนอกโรงเรือน ฟาร์มนั้น ๆ จะต้องมีการจัดการฟาร์มเห็ดที่ดี” ซึ่งหากผู้เพาะเห็ดทำได้ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มเพาะเห็ด
เขียนโดย นายสามารถ บุญจรัส (นักวิชาการ)
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
เสนอแนะติชม email : thaigreenagro@gmail.com
Category:
|
Leave a comment